วันจันทร์ที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2554

กาลครั้งหนึ่งกับชุดวิวาห์

สวัสดีขาจรนักอ่านและชาว Anglo-society นะคะ และต้องกราบขออภัยที่ปล่อยเว็บร้างไปเสียนานเพราะมีภารกิจระดับชาติติดพันอยู่นอกประเทศ จึงมิได้เขียนบทความไปหลายเดือนเลยทีเดียว

เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมากระแส Royal Wedding ของหน่อเนื้อเชื้อไขราชวงศ์อังกฤษ Prince William และสาวแฟชั่นนิสต้าสามัญชน(ชั้นสูง) Kate Middleton เป็นอะไรที่ฮือฮาไปทั้งในและนอกราชอาณาจักร แน่นอนว่า highlight ที่มักถูกจับตามองเป็นพิเศษในทุกงานอภิเษกหรืองานแต่งงานก็คือ ชุดเจ้าสาว (wedding gown หรือ wedding dress) เพราะเป็นสิ่งที่บ่งบอกถึงฐานะ บุคลิก และรสนิยมของผู้สวมใส่ได้อย่างชัดเจน เป็นหน้าเป็นตาของคู่แต่งงานทั้งสองฝ่าย พิธีแต่งงานเป็นขั้นตอนทางวัฒนธรรมที่สำคัญต่อสังคมมนุษย์ไม่แพ้การเกิดและการตาย เพราะเป็นจุดเปลี่ยนบทบาทของผู้หญิงจากลูกสาว เป็น ภรรยา และ แม่ในอนาคตอันใกล้ตามวัฏจักรชีวิต วันแต่งงานจึงถือเป็น big day ของสาวๆ และชุดแต่งงานจึงเป็นชุดที่พวกเธอพิถีพิถันมากที่สุดเพราะเป็นชุดที่ทั้งชีวิตน่าจะมีโอกาสสวมใส่เพียงครั้งเดียวเท่านั้น

คำกริยาแต่งงาน (to wed) วัฒนาการมาจากภาษาอังกฤษโบราณที่วัฒนามาจากภาษาเยอรมันโบราณอีกทอดหนึ่ง ‘weddian’ แปลว่า สาบาน ให้คำมั่น หรือ ทำสัญญา ส่วนคำกริยาแต่งงาน (to marry) นั้นวัฒนาการมาจากภาษาฝรั่งเศสโบราณในศตวรรษที่ 13 ‘marrier’ แปลว่าแต่งงานค่ะ คำนามสำหรับสองคำนี้มีความหมายต่างกันนะคะ คำว่า marriage (อ่านว่าแม้-หริจ ไม่ใช่ แม้-หริ-เอจ) หมายถึงการสมรส นั่นหมายถึงการที่คนสองคนตกลงเป็นสามีภรรยากันโดยถูกต้องตามกฎหมาย ส่วน wedding เป็นส่วนประกอบหนึ่งของ marriage มีความหมายครอบคลุมเฉพาะพิธีแต่งงาน เช่นถ้าจัดพิธีในโบสถ์ก็คือ a church wedding ไม่ใช่ a church marriage นะคะ (wedding = a marriage ceremony) ส่วนงานเลี้ยงหลังจากนั้นจะเรียกว่า wedding reception หรือ wedding party

ในยุคโรมันโบราณชุดแต่งงานของเจ้าสาวจะมี ‘flammeum’ คือผ้าคลุมศีรษะ ซึ่งจะเปิดให้เห็นหน้าเจ้าสาว เจ้าสาวจะสวมใส่ชุดแต่งงานสีขาวที่เรียบง่ายทว่าพิถีพิถัน ลักษณะเป็น robe คือเป็นชุดหลวมๆคลุมยาวถึงข้อเท้า เรียกว่า ‘tunica recta’ และมีเชือกผูกเอว หรือ ‘cingulum’ ประหนึ่งสัญลักษณ์ความซิงของเจ้าสาว และเจ้าบ่าวเท่านั้นที่จะเป็นผู้ปลดเชือกผูกเอวนี้ในวันแต่งงาน โดยมีบุคคลสำคัญในการประกอบพิธีแต่งงานคือ 'pronuba' ซึ่งจะทำหน้าที่ประสานมือของเจ้าบ่าวและเจ้าสาว โดยเจ้าสาวจะต้องเอ่ยว่า "Ubi tu Gaius, ibi ego Gaia" แปลว่า "wherever you go, there also go I, your wife".

1. หินอ่อนแกะสลักที่ฝาโลงศพ อายุประมาณ 160-80 AD (ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่ British Museum) แสดงภาพการแต่งงานของชาวโรมัน เจ้าบ่าวเจ้าสาวจับมือกัน และมี pronuba ถือทะเบียนสมรสอยู่ด้านหลัง
วันเวลาผ่านเลยมาถึงยุคกลาง (medieval) ยุคที่เรามักจะมโนภาพเป็นปราสาทหิน เจ้าหญิง เจ้าชาย พบกันรักกันอภิเษกกันมีความสุข ever after ตามขนบเทพนิยายนั้น อันที่จริงการแต่งงานของชนชั้นราชนิกูลไม่ได้เกิดจากรักแรกพบแล้วก็ร้องเพลงจีบกันเหมือนที่เราได้รับรู้จากการ์ตูน Disney ทว่ามักจะเป็นไปเพื่อผลประโยชน์ของสองตระกูล หรือเป็นเรื่องทางการเมือง บางครั้งเจ้าสาวอาจถูกหมั้นหมายไว้ตั้งแต่แรกเกิดเลยก็มี ดังนั้นชุดอภิเษกหรือชุดแต่งงานของเจ้าสาวยิ่งชั้นสูงจึงต้องยิ่งพิถีพิถันและวิจิตรอลังการเท่าที่สถานภาพทางการเงินจะเอื้ออำนวยเพราะชุดเจ้าสาวเป็นตัวบ่งชี้ฐานันดรและความยิ่งใหญ่ของตระกูล หรือของประเทศราชของเธอเลยทีเดียว แพรพรรณที่ใช้ตัดเย็บก็ต้องดูดีมีสกุลเช่น ผ้ากำมะหยี่ ผ้าไหม ผ้าซาติน หรือขนสัตว์ แทรกด้วยดิ้นเงินดิ้นทอง ปริมาณของผ้าก็ต้องจัดหนักด้วยเช่นกัน ชุดเจ้าสาวจึงอาจมีชายกระโปรง (train) และชายแขนเสื้อ (sleeves) ที่ยาวลากพื้นกันเป็นหลายเมตร ยิ่งยาวยิ่งเยอะยิ่งน่าประทับใจ


สีสันที่ใช้ก็สะท้อนมูลค่าต่างๆกัน กล่าวคือ สีย้อมผ้าที่จัดว่ามีราคาหายากในสมัยนั้นคือสีแดง สีม่วง และสีดำสนิท ส่วนสีย้อมที่มีราคาถูกคือสีที่เห็นก็รู้ว่าสกัดมาจากพืชผักธรรมชาติทั่วไปที่ไม่แจ่มจรัสนักเช่นสีเขียวหม่น สีน้ำตาล สีเทา นอกจากนี้ชุดเจ้าสาวยังได้รับการประดับตกแต่งด้วยอัญมณีวิ้งๆเช่นเพชร ทับทิม มรกต ไพลิน หรือไข่มุก จะได้เจิดเป็นประกายสู้แสงในวันเข้าพิธี การตกแต่งด้วยอัญมณีนี้อาจเพิ่มน้ำหนักให้กับชุดมากจนทำให้เจ้าสาวขยับไม่สะดวก หรือถึงขั้นต้องมีผู้ช่วยลากจูงกันเลยทีเดียว ความวิจิตรงดงามของชุดเจ้าสาวระดับบนในยุคนี้เกิดเป็นแรงบันดาลใจให้กับสาวๆระดับล่างและหญิงสาวสามัญชน จึงได้เกิดมีความพยายามลอกแบบชุดแขนยาวหางยาวนี้ทว่านำมาโม (modify)ด้วยวัสดุที่ราคาถูกลง


2. การแต่งงานสมัยยุคกลางมักเป็นลักษณะคลุมถุงชน (arranged marriage) เจ้าสาวมักมีอายุน้อยกว่าเจ้าบ่าวมาก

3. The Arnolfini Wedding โดยจิตรกร Jan Van Eyck (1434) แสดงการแต่งงานของวานิชชาวอิตาลีในช่วงปลายยุคกลาง-ต้นยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการ ชุดเจ้าบ่าวตกแต่งด้วยขนสัตว์ หมวกก็ย้อมสีดำสนิทเช่นเดียวกับสีชุด ส่วนเจ้าสาวสวมชุดหางยาวที่ใช้ผ้าจำนวนมากในการตัดเย็บ ย้อมด้วยสีเฉดที่มีราคาแพงทั้งชั้นนอกและตัวใน แสดงถึงฐานะทางการเงินอันมั่งคั่ง นักวิชาการบางคนสันนิษฐานว่าแฟชั่นนิยมสำหรับชุดเจ้าสาวในยุคนี้บางครั้งมีการใส่‘ท้องปลอม’ ทำให้เจ้าสาวดูเหมือนตั้งครรภ์ เพื่อแสดงถึงความอุดมสมบูรณ์

เข้าสู่ยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการ (Renaissance ประมาณเวลาหยาบๆคือช่วงปี 1400-1600 เริ่มต้นในอิตาลีและแพร่ออกไปทางยุโรปตอนเหนือจนถึงเกาะอังกฤษด้วย) ด้วยความที่การค้าขายและเศรษฐกิจยุคนี้เฟื่องฟูอย่างสุดๆ วัสดุที่ใช้ในการตัดเย็บจึงมีให้เลือกซื้อเลือกสรรกันมากขึ้น กระแสชุดเจ้าสาวแบบจัดหนักก็เลยได้รับการใส่ใจให้หรูหราวิจิตรยิ่งๆขึ้นไป

จุดเปลี่ยนในการออกแบบที่เห็นได้ชัดในยุคนี้คือชุดเจ้าสาวที่เดิมทีออกจะหลวมๆและปกปิดเรือนร่างอย่างมิดชิดได้เปลี่ยนให้เน้นสัดส่วนช่วงลำตัวด้านบน (bodice) แขนเสื้อก็มีหลากหลายทั้งแขนยาว แขนสั้น แขนพอง กระโปรงยาวถึงยาวมากและไม่เข้ารูปจะได้โชว์ปริมาณผ้าด้วยนั่นเอง สีสันที่ใช้ยังคงเป็นสีโทนแจ่มจรัสเช่นเดิม โดยเฉพาะสีน้ำเงิน สีแดง (สีขาวไม่ใช่สียอดนิยมเหมือนสมัยนี้) และการปักดิ้นปักเลื่อมหรือแต่งด้วยเพชรพลอยเลอค่าก็ยังคงได้รับความนิยมอย่างสูงโดยเฉพาะชนชั้นไฮโซว

วิวัฒนาการที่โดดเด่นอีกอย่างของชุดเจ้าสาวสมัยนี้คือการใส่กระโปรงสุ่ม (hoop skirt) ไว้ด้านในเพื่อให้ทรงกระโปรงบานแบบมี volume และที่น่ารักอีกอย่างคือการเพิ่ม bum roll หรือ ‘หนุนก้น’ เพื่อให้เจ้าสาวดูมีทรวดทรงองเอวงดงามตามยุคสมัย

4. Bum roll สำหรับเพิ่มทรวดทรงของสาวๆยุค Renaissance

ผ่านไปได้สักพักหนึ่งความนิยมสีผ้าโทนโรแมนติก เช่นสีชมพู สีโอล์ดโรส หรือสีงาช้าง มีเพิ่มขึ้น ยิ่งตัดเย็บออกมาเป็นชุดกระโปรงทรงพองฟูแล้วเจ้าสาวก็จะแลดูเหมือนดอกกุหลาบที่กำลังแย้มบานน่าทะนุถนอม ลูกไม้เริ่มเป็นวัสดุยอดนิยมในการตกแต่งชุด แบบคอเสื้อนิยมคว้านอกช่วงบน และ/หรือใช้ลูกไม้ฟูๆในการตกแต่ง

คอเสื้อที่โดดเด่นในยุคนี้คือ ‘Medici collar’ ลักษณะเป็นปกตั้งแผ่เป็นแม่เบี้ยเสมือนมีรัศมีรอบคอ ฮอทฮิตติดกระแสในช่วงทศวรรษค.ศ. 1540-1550 แรงบันดาลใจมาจากคอเสื้อของพระนาง Catherine de Medici (1519-1589) สาวสัญชาติอิตาเลี่ยนประเทศแฟชั่นแห่งยุคสมัย และสาวๆตระกูล Medici ด้วยกัน


5. The Marriage of Catherine de Medici โดยจิตรกร Jacopo Da Empoli เป็นภาพแสดงงานอภิเษกระหว่างพระนางและ Prince Henry of France (ต่อมาคือ King Henry II of France และ Henry IV of England) มีขึ้นในปีคศ 1533 ขณะที่ทั้งคู่มีพระชนม์ได้ 14 ชันษา


6. The Wedding By Proxy Of Marie de’ Medici to King Henry IV of France, โดย Sir Peter Paul Rube งานอภิเษกมีขึ้นในปี 1600


ปกแม่เบี้ยนี้ละม้ายคอเสื้อของ Queen Elizabeth I ของอังกฤษ (1533-1603) ซึ่งฟูฟ่องอลังการสุดๆ เรียกว่า ‘ruff’ และเป็นชิ้นแยกซักรีดต่างหากจากชุด รัศมีนั้นอลังการขนาดที่ว่าปัจจุบันนี้หากเอ่ยคำว่า Elizabethan collar นอกจากจะหมายถึงแผงตกแต่งคอในยุคนั้นแล้ว ยังจะหมายถึงปลอกคอสำหรับป้องกันไม่ให้สัตว์ป่วยเลียแผลตัวเอง หรือที่บ้านเราเรียกว่า ‘ลำโพง’ อีกด้วย

7. Queen Elizabeth I ทรง ruff หรือ Elizabethan collar
8. น้องหมาป่วยกับ Elizabethan collar


ยุค Renaissance นี้เป็นยุคที่ศิลปะการออกแบบได้รับการพัฒนาและสร้างสรรค์มาก และยังได้ส่งอิทธิพลมาถึงการออกแบบชุดเจ้าสาวในปัจจุบัน เวลาพูดถึงชุดเจ้าสาวแบบ Renaissance ก็จะชวนให้นึกถึงชุดกระโปรงแบบจัดหนัก คอเสื้อคว้านกว้างเผยเนินอก แขนเสื้อทรงกระดิ่งบานที่ข้อศอกและปล่อยชายแขนเสื้อให้ทิ้งลงมาเป็นชั้นๆ (bell sleeves) เอวคอดกิ่ว อาจแต่งเอวเป็นตัว V ด้านหน้า (dropped waist line) เสริมหนุนก้นและสะโพกเทียมด้านในซ้ายขวา หรือใส่กระโปรงสุ่มขนาดใหญ่ไว้ด้านใน กระโปรงยาวเล่นระดับหลายชั้น ให้อารมณ์เจ้าหญิงมากที่สุดในบรรดาแบบชุดเจ้าสาวที่เคยมีมาในประวัติศาสตร์


9. Marie Antoinette ในชุด court dress เป็นลักษณะชุดแบบ Renaissance ที่จัดหนักเต็มพิกัด


10 and 11. ชุดเจ้าสาวปัจจุบันที่ได้รับแรงบันดาลใจจาก Renaissance dress


ต่อมาในยุคจักรวรรดินิยมของ Napoleon Bonaparte (First French Empire ต้นศตวรรษที่19) เกิดแนวศิลปะที่เรียกว่า Empire style (Neo-classic period)โดดเด่นด้วยการหวนนำศิลปะคลาสสิคแบบกรีกโรมันกลับมาทำให้เฟื่องฟูอีกครั้งทั้งในวงการประติมากรรม (เช่นประตูชัย) และวงการทัศนศิลป์ สำหรับวงการแฟชั่นชุดเจ้าสาวมีการนำแบบชุดที่เรียบง่ายในสมัยกรีกโรมันมาปรับแต่งใหม่ กลายเป็นชุดเจ้าสาวเก๋ๆกรีกๆ จับเข้ารูปใต้อก แขนสั้นหรือยาวก็ได้ กระโปรงปล่อยๆแบบสาวกรีก ไม่ฟูเว่อร์เป็นหลายชั้นเหมือนในสมัย Renaissance เราเรียกชุดเจ้าสาวทรงนี้ว่าทรง empire ทรงนี้ยังเป็นที่นิยมในปัจจุบัน มีการนำมาโมเป็นเกาะอก หรือไหล่เดียว แต่ยังคงคาแรกเตอร์เข้ารูปใต้อกและกระโปรงยาวทิ้งตัวเหมือนเดิม


12. Empress Josephine จักรพรรดินีพระองค์แรกของฝรั่งเศสในชุดวันครองราชเคียงคู่พระสวามี Napoleon Bonaparte ชุดนี้ไม่ใช่ชุดอภิเษก แต่เป็นชุดแบบ empire ที่ทรงอิทธิพลมากชุดหนึ่งในประวัติศาสตร์แฟชั่น โดยเฉพาะงานออกแบบเครื่องเพชรที่มงกุฏ

13. Empress Marie-Louise (1791-1847) จักรพรรดินีพระองค์ถัดมาของ Napoleon ในชุดแบบ empire ในวันอภิเษกสมรสปีค.ศ. 1811 ผ้าคลุมสีแดงนั้นเป็นชิ้นที่ Empress Josephine เคยใส่ในภาพทางซ้ายนั่นเอง


14. ชุดแต่งงานประยุกต์แบบ empire ในปัจจุบัน
จุดเปลี่ยนสำหรับแฟชั่นชุดเจ้าสาวครั้งใหญ่เกิดขึ้นอีกครั้งในเวลาต่อมาไม่นาน เมื่อ Queen Victoria แห่งอังกฤษทรงชุดผ้าซาตินสีขาวล้วน ความยาว 18 เมตร ตกแต่งด้วยดอกไม้ในวันอภิเษกกับเจ้าชายผู้เป็นลูกพี่ลูกน้อง Albert of Saxe-Coburg ในปีค.ศ. 1840 เมื่อพระฉายาลักษณ์ปรากฎต่อสื่อทั่วโลกความนิยมชุดเจ้าสาวสีขาวก็พุ่งเป็นปรอท สีขาวกลายเป็นสียอดนิยม แม้แต่ Princess Alice พระธิดาของพระองค์ก็ทรงชุดสีขาวตกแต่งด้วยดอกไม้ในอภิเษกในปีค.ศ. 1862 ด้วยเช่นกัน ปัจจุบันเมื่อพูดถึงชุดเจ้าสาวก็จะต้องเป็นสีขาวหรือสีออกขาว (of white) ชุดอภิเสกของ Queen Victoria จึงนับเป็นการสร้างกระแสสีที่ทรงอิทธิพลต่อเนื่องยาวนานมาจนทุกวันนี้


ชุดแต่งงานแบบ Victorian เป็นแรงบันดาลใจต่อการออกแบบชุดเจ้าสาวในปัจจุบัน และถือว่าเป็นแบบชุดที่ได้รับความนิยมสูงสุดแบบนึงเลยก็ว่าได้ เพราะความงดงามที่ลงตัวของชุด คอเสื้อคว้านกว้างพอเซ็กซี่ เปิดไหล่ เอวคอด กระโปรงยาวฟู ตกแต่งด้วยลูกไม้ หรือไข่มุก สีขาวบริสุทธิ์ทั้งหมด ดูเป็นเจ้าหญิงเดียงสากำลังดี ไม่โอ่อ่าอลังการมากมายเหมือนชุดสมัย Renaissance



15. Victoria, Queen of England ในชุดอภิเษก

16. Princess Alice ในชุดอภิเษก

17. ชุดแต่งงานสไตล์ Victorian ในปัจจุบัน


ผ่านมาจนศตวรรษที่ 20 ในยุค The Roaring 20s เกิดสไตล์ที่เรียกว่า Flapper ซึ่งแนวอย่างสุดๆในสมัยนั้น สาวๆแฟชั่นนิสต้าจะนิยมกระโปรงสั้น ผมบ๊อบเต่อแค่ติ่งหู แต่งหน้าจัด แสดงออกอย่างโผงผาง เช่นดื่มเหล้า สูบบุหรี่ หรือขับรถ (ถือว่าเปรี้ยวมากในสมัยนั้น) กระโปรงชุดเจ้าสาวจึงหดสั้นลงถึงแค่ข้อเท้าบ้าง สั้นแค่เข่าบ้างตามกระแสแฟชั่น แขนเสื้อสั้นถึงสั้นมาก หรือเป็นแขนกุดไปเลยก็มี ลูกเล่นที่โดดเด่นของชุดเจ้าสาว Flappers คือหมวกและผ้าคลุมหน้าเจ้าสาว (veil) ซึ่งจะตกแต่งกันอย่างเก๋กู้ดสุดๆไปเลย

18 และ 19. เจ้าสาว Flappers ในยุค 20s


ความอลังการของชุดเจ้าสาวนั้นผันแปรไปตามสภาพเศรษฐกิจ เมื่อโลกเข้าสู่ช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่งและสอง ตามด้วยช่วงภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ชุดเจ้าสาวโดยเฉพาะเจ้าสาวสามัญชนธรรมดาก็จะเป็นชุดกระโปรงที่เรียบง่ายขึ้นเพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย

20. ชุดแต่งงานแบบเรียบง่ายในสมัยสงคราม


และเมื่อเศษฐกิจกลับมาดีขึ้นอีกครั้ง บรรยากาศการใช้ชีวิตสดใสขึ้น วงการชุดเจ้าสาวก็กลับมามีชีวิตชีวา ช่วงกลางและปลายศตวรรษที่ 20 มีชุดเจ้าสาวราชนิกูลระดับตำนานที่ทุกห้องเสื้อชั้นนำจะต้องรู้จักแน่นอนนั่นก็คือ ชุดของ Grace Kelly ในพิธีอภิเษกกับเจ้าชาย Rainier แห่ง Monaco เมื่อปีค.ศ. 1956 นอกจากเจ้าสาวจะมีดีกรีระดับซุปตาร์แล้วชุดของ Grace ยังงามแบบโลกไม่ลืมอีกด้วย


Grace ใส่ชุดผ้าไหมสีขาว เข้ารูปช่วงบน ปกปิดมิดชิดตามแบบฉบับราชนิกูลยุโรปที่ไม่นิยมชุดอภิเษกแบบเกาะอกเปิดไหล่เปลือยแขนโล่งเกินงาม งานปักและงานลูกไม้วิจิตรอลังการ บ้างว่าชุดนี้อาจเป็นแรงบันดาลใจสำหรับ Alexander McQueen ผู้ออกแบบชุดอภิเษกของ Kate Middleton เพราะมีลักษณะคล้ายกันตรงที่ชุดเป็นแขนยาวเข้ารูป เน้นงานลูกไม้ช่วงลำตัวด้านบน ขอบเอวสูง กระโปรงมี train แบบเรียบๆ นอกจากนี้ยังสวมมงกุฎเพชร(tiara) ขนาดไล่เลี่ยกัน และใช้ผ้าคลุมหน้าแบบบางเป็นพิเศษด้วย

21. Grace Kelly ในชุดอภิเษก

22. Kate Middleton ในชุดอภิเษกเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา


ชุดอภิเษกโลกไม่มีวันลืมอีกชุดจะเป็นอื่นไปไม่ได้นอกจากชุดของ Lady Diana Spencer กับเจ้าชาย Charles แห่งอังกฤษในปีค.ศ.1981 เรียกว่าเป็นงานอภิเษกแห่งศตวรรษเลยทีเดียวเพราะมีผู้คนเฝ้าดูอยู่หลักหลายล้านคนทั่วโลก ชุดอภิเษกนั้นเรียกว่าจัดหนักและเต็มที่สุดๆ ตัดเย็บจากผ้าไหม taffeta สีขาวล้วน ตกแต่งด้วยลูกไม้ งานปักด้วยมือ และไข่มุกอีกกว่าหมื่นเม็ด กระโปรงยาวถึง 25 ฟุต ผ้าคลุมหน้ายาวเกือบ 8 เมตร เรียกได้ว่าจัดหนักจริงๆ หลังจากงานอภิเษกชุดนี้ก็ได้ทัวร์เพื่อโชว์ทั่วพิพิฒภัณฑ์รอบโลกเป็นที่เรียบร้อย

23. Lady Diana ในชุดอภิเษก สำหรับชุดเจ้าสาวประวัติศาสตร์ปี 2011 ชุดล่าสุดในงานอภิเษกระหว่าง Prince William และ Kate Middleton ที่เพิ่งผ่านมาหมาดๆนี้ตัดเย็บด้วยผ้าซาตินสีงาช้าง ประดับด้วยงานลูกไม้ปักมือฝีมือช่างอังกฤษ หางยาวประมาณ 8-9 ฟุตซึ่งคิดเป็นความยาวเพียงหนึ่งในสามของชายกระโปรง Lady Diana เท่านั้น แต่ความพิเศษของชุดนี้อยู่ที่ความ เรียบง่ายทว่างามสง่าไม่ต้องมีอะไรประโคมมาก และความที่ชุดไม่แกรนด์ก็ทำให้ Kate เคลื่อนไหวได้สะดวก ขณะที่ Lady Diana ต้องใช้สาวถือชายกระโปรงมากกว่าและต้องนั่งรถอย่างลำบากหน่อยเพราะกระโปรงกินเนื้อที่


24 และ 25. เปรียบเทียบความยาวของ veil และ train ของเจ้าสาวบัลลังก์อังกฤษทั้งสองพระองค์
สุดท้ายนี้ขอปิดบทความด้วยภาพงานแต่งงานสามัญชนของผู้เขียนเองนะคะ เจ้าบ่าวก็มิใช่ใครที่ไหนไกล Admin หรือคุณ Bruce ประจำ webboard ของเรานั่นเอง งานจัดขึ้นก่อน the Royal Wedding ไม่นานนัก ณ โรงแรม Sheraton Grand Sukhumvit Bangkok สังกัปงานเป็น Elizabethan England ประมาณว่าให้เข้ากับ www.anglo-society.com เพราะเป็นเว็บที่เราสองคนตั้งใจทำด้วยกันมาตั้งแต่แรกเริ่ม


ป.ล.ถ้ามีทุนทรัพย์เพียงพอเจ้าบ่าวจะได้ใส่ชุดหมูแฮมแบบ Shakespeare และเจ้าสาวจะจัดแขนเสื้อและชายกระโปรงอย่างหนักหน่วงประมาณปลายยุคกลาง-ต้น Renaissance เลยทีเดียว ยุคนี้เศรษฐกิจพอเพียง เจ้าสาวสามัญชนก็เลยขอใช้เพียงผ้าคลุมไหล่ (shawl) มาลากพื้นเล่นพอสาแก่ใจ เดือนหน้าหวังว่าจะได้พบกันใหม่นะคะ




References:
http://www.dressfinder.com/history-wedding-dresses/
http://www.fromtimespast.com/wedding.htm
http://www.perfect-wedding-day.com/bridal-wedding-gown-history.html
http://www.luxemag.org/fashion-history/history-wedding-dresses.html
http://www.roman-colosseum.info/roman-clothing/roman-wedding-clothing.htm
http://www.explore-italian-culture.com/ancient-roman-marriage.html
http://www.renaissance-weddings.net/renaissance_fashion.htm
http://www.fashion-era.com/Weddings/1922-old-wedding-photos.htm

Photo courtesy:
1.Roman: http://www.the-romans.co.uk/new_gallery_three.htm
2.http://www.law.harvard.edu/news/spotlight/faculty-research/donahue-to-publish-study-of-medieval-marriage.html
3.http://www.impetustoanalysis.com/2010/02/jan-van-eyck-2/
4.http://blog.modcloth.com/2010-03-09-omg-look-at-her-bum-roll
5.http://www.art.com/gallery/id--a45470/jacopo-da-empoli-posters.htm
6.http://sukajustsayin.blogspot.com/2011/04/not-flippin-invited-nfi.html
7.http://blog.aurorahistoryboutique.com/2008/12/
8.http://www.pet-care-and-training.com/homeopathic-dog-care.html
9.http://blog.catherinedelors.com/marie-antoinette-and-louise-elisabeth-vigee-lebrun-the-queen-and-the-painter/
10.http://www.zimbio.com/Wedding+Gowns/articles/UXMJ9lwz4jK/Renaissance+Wedding+Gowns 11.http://www.thisnext.com/item/0A089F78/Renaissance-Wedding-Gowns-St
12.http://gildedc.blogspot.com/2010/11/empire-strikes-back-josephine-bonaparte.html
13.http://www.khm.at/nocache/en/treasury/highlights/gemstones-jewellery-and-commemorative-pieces/?aid=13&cHash=eda4524577
14.http://whiteweddingdresses.onsugar.com/Empire-Wedding-Dresses-15702550
15.http://gildedc.blogspot.com/2010/11/queen-victorias-white-wedding.html
16.http://en.wikipedia.org/wiki/File:Princess_Alice_in_wedding_dress_cropped.jpg
17.http://w-weddinggowns.com/victorian-wedding-gown/
18.http://www.janetmcnaughton.ca/TDfashion.html
19.http://www.fashion-era.com/Weddings/1922-old-wedding-photos.htm
20.http://www.wedding-photography-secret.com/history-of-wedding-photography-2604
21.http://www.fashion-era.com/Weddings/1956_old_wedding_photos_royal.htm
22.http://www.dailymail.co.uk/femail/article-1381989/Royal-Wedding-Kate-Middletons-wedding-dress-tribute-Grace-Kelly.html
23.http://amygonyoadventure.blogspot.com/2011/05/july-29-1981-princess-diana-and-prince.html
24 and 25. http://www.people.com/people/package/article/0,,20395222_20485968,00.html
26, 27 and 28. Private collection from the webmaster


2 ความคิดเห็น:

  1. Risawedding เป็น บริษัท จัดงานแต่งงานที่ดีที่สุดในประเทชุดเจ้าสาวศไทยเรามีช่างภาพงานแต่งงานและชุดเจ้าสาวที่สวยงามสำหรับการแต่งงานของคุณ


    Visit Now:- http://www.risawedding.com/index/TH/?p=219858326

    ตอบลบ
  2. ค่ายพีจี pgslot มีเกมรูปแบบไหนบ้าง เรามาดูไปพร้อม ๆ กัน ให้ลูกค้าเล่นบ้าง เราได้รวบรวมข้อมูลมาให้ท่านได้ดูกันแล้ว ไปดูกันได้เลย กับเนื้อหาที่เราเตรียมมาให้ ไปดูกันได้เลย pg slot

    ตอบลบ