วันจันทร์ที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2554

Another picture that paints a thousand words: เรื่องเล่าจากภาพหนึ่ง

                                                        
1. Marriage of Arnolfini (1434)
เรื่องราวความเป็นมาของชุดวิวาห์ในฉบับที่แล้วมีภาพสีน้ำมันที่นำมาประกอบภาพหนึ่งเป็นภาพที่น่าสนใจเกินกว่าจะปล่อยให้เป็นเพียงภาพอ้างอิงเรื่องชุดแต่งงานเท่านั้น เพราะภาพนี้โด่งดังทั้งทางด้านสุนทรียะ (aesthetic) และการตีความ (interpretation) ภาพนั้นคือภาพ The Arnolfini Marriage โดยจิตรกรชาวดัช  Jan Van Eyck (1390(?)-1441) บรรจงลงแปรงสีน้ำมันแล้วเสร็จในปีค.ศ. 1434  ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่รูปแบบของศิลปะมีความเปลี่ยนแปลงจากปลายยุคกลาง (medieval) ที่นิยมการวาดภาพเพื่อรับใช้ศาสนา (religious paintings เช่นภาพพระเยซู มาเรีย นักบุญ การสังหารนักบุญ (martyrs)) มาเป็นภาพทางโลกในยุคฟื้นฟูศิลปะวิทยาการ (secular paintings เช่นภาพวาดภาพเหมือนบุคคล (portraits) หรือภาพเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์) ภาพนี้เป็นตัวแทนของรอยต่อความเปลี่ยนแปลงทางความคิดเป็นอย่างดี เพราะแม้ภาพนี้จะไม่ได้มีเนื้อหารับใช้ศาสนา เป็นเพียงภาพเหมือนของชายหนุ่มกับหญิงสาวจับมือกันประหนึ่งกำลังเข้าพิธีสมรสกันอยู่ในห้องนอนส่วนตัว แต่ก็ยังใช้ขนบการวาดภาพแบบยุคกลางตอนปลายทั้งการจัดวางองค์ประกอบและการวางสีหน้าที่เรียบเฉยของบุคคล



2. The Madonna in Majesty (1285-86), Cimabue (Cenni di Peppi)
3. Madonna and Child 1482, Carlo Crivelli
4.Madonna in the Meadow 1505-1506, Raphael

 (จากซ้ายไปขวา) เปรียบเทียบภาพมาเรียกับพระบุตรในยุคต่างๆกัน สังเกตว่าต้นยุคกลางจะมีการจัดองค์ประกอบที่ค่อนข้างเป็นสมมาตร มีทวยเทพ มีรัศมี มีพร๊อพประกอบ มาเรียมีสีหน้าเรียบเฉย เน้นการสื่อสารทางศาสนามากกว่าการถ่ายทอดทางอารมณ์ เมื่อเข้าสู่ยุคศิลปวิทยการอย่างเต็มตัว (High Renaissance) แนวคิดเรื่องมนุษยนิยมทำให้ภาพมาเรียและพระบุตรได้รับการถ่ายทอดออกมาให้ดูอบอุ่นและมี post เป็นธรรมชาติเหมือนมนุษย์มากขึ้น

นอกจากเราจะเห็นทักษะการวาดภาพ ความประณีตในการเก็บรายละเอียดกระจุกกระจิก ความงดงามในการใช้สีสันโดยเฉพาะการเล่นคู่สีแดงเขียวที่ทำให้ภาพดูสว่างสดใสมากในส่วนของผู้หญิงแต่ยังได้ดุลย์กับสีโทนขรึมมากในส่วนของผู้ชาย The Marriage of Arnolfini ยังมีการใช้สัญลักษณ์ (symbols) มาประกอบภาพทำให้ผู้ที่ได้พิศดูอดตีความกันไปต่างๆนานาไม่ได้ อีกทั้งข้อมูลเกี่ยวกับที่มาที่ไปของภาพนี้ก็คลุมเครือ ทำให้เกิดข้อถกเถียงมาจนทุกวันนี้ว่าแท้จริงแล้วศิลปินต้องการสื่ออะไรจากภาพนี้กันแน่

ในภาพนี้ฝ่ายชายกำลังประคองมือเจ้าสาวด้วยมือซ้าย และให้คำสาบาน (oath) ด้วยมือขวา ในศตวรรษที่ 15 นั้นการแต่งงานไม่จำเป็นต้องจัดขึ้นในโบสถ์ ไม่ต้องใช้ผู้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา แต่จะกระทำขึ้นที่ใดก็ได้ แม้แต่ในห้องนอนส่วนตัวดังภาพ สิ่งสำคัญคือจะต้องมีการจับมือสาบานเป็นสามีภรรยาต่อกัน หากอยากจะให้มีพิธีการทางศาสนาสักหน่อยก็เข้ารับศีล (communion) ร่วมกันที่โบสถ์ในเช้าวันรุ่งขึ้นก็เพียงพอ  
 
5. The Groom and his Bride


6. Portrait of Giovanni Arnolfini c.1435
Van Eyck  ไม่ได้ระบุไว้ที่หลังภาพหรือในเอกสารใดๆเลยว่าสองบุคคลในรูปนี้คือใคร เท่าที่ทราบอย่างแน่ชัดก็คือภาพนี้วาดขึ้นเมื่อปีค.ศ. 1434  ที่เมือง Bruges ซึ่ง ณ ช่วงเวลานั้นเป็นเมืองศูนย์กลางทางการค้าในยุโรปตอนเหนือที่รุ่งเรือง   ประมาณร้อยปีหลังจาก Van Eyck เสียชีวิตภาพนี้ได้ก็รับการจัดเก็บในแกเลอรี่แห่งหนึ่งและบันทึกสั้นๆในรายการไว้ว่าเป็น  “A large panel painting, Hernoult le Fin with his wife in a room.”  ชื่อสกุล Hernoult le Fin นั้นเป็นเวอร์ชั่นภาษาฝรั่งเศสของชื่อสกุล Arnolfini ในภาษาอิตาเลียนซึ่งเป็นตระกูลวานิช (merchant) และนายธนาคาร (banker) พื้นเพเป็นชาวเมือง Lucca แต่มาทำธุรกิจธุรกรรมใน Bruges จนมั่งคั่งในช่วงเวลาดังกล่าว จึงสันนิษฐานกันว่าผู้ชายในภาพน่าจะเป็นชายหนุ่มจากตระกูล Arnolfini คนหนึ่งซึ่งก็ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ว่าเป็นคนไหนกันแน่ เพราะในช่วงเวลาประมาณเดียวกันนั้นมีชายหนุ่มสกุล Arnolfini อยู่ถึงสี่ห้าคน


7. The artist's signature

หลายคนเชื่อว่าชายหนุ่มผู้นี้น่าจะเป็น Giovanni di Arrigo Arnolfini และภรรยา Giovanna Cenami และภาพนี้ก็คงวาดขึ้นเพื่อทำหน้าที่เสมือนเป็นทะเบียนสมรสของคู่สามีภรรยา เพราะมีลายเซ็นต์บนภาพของศิลปินเองกำกับการรู้เห็นเป็นพยานของเขาที่เหนือกระจกเงา ลายเซ็นต์นั้นแปลเป็นภาษาอังกฤษว่า “Jan Van Eyck was here. 1435” แทนที่จะเขียนว่า “Jan Van Eyck made this. 1435” ซึ่งเป็นขนบในการเซ็นต์กำกับภาพในศตวรรษที่ 15 นอกจากนี้เรายังเห็นพยานบุคคลอีกสองคนที่สะท้อนอยู่ในกระจกเงาด้านหลัง ซึ่งหนึ่งในนั้นก็อาจจะเป็น Van Eyck เอง


หากพิจารณาในรายละเอียดจะเห็นว่าภาพนี้เต็มไปด้วยสัญลักษณ์ (symbols) ที่เกี่ยวข้องกับการแต่งงาน (matrimony) เช่น สีแดงของเตียงเป็นสีแห่งความรัก ส้มที่กองอยู่นั้นเป็นสัญลักษณ์ของความความบริสุทธิ์ (purity and chastity) ความรัก และการแต่งงานในหลายวัฒนธรรม (เช่นการใส่มงกุฎดอกส้มในวันแต่งงานของเจ้าสาว) บนพื้นก็มีเจ้าสุนัขน้อยอยู่หนึ่ง สุนัขนั้นรู้กันโดยสากลว่าเป็นสัตว์ที่ซื่อสัตย์กับผู้เลี้ยงมาก จึงถือเป็นสัญลักษณ์แห่งความจงรักภักดีและความซื่อสัตย์ระหว่างคู่สามีภรรยา (fidelity) นอกจากนี้ยังมีผู้เสนอว่า ตำแหน่งการยืนของฝ่ายชายนั้นค่อนไปทางหน้าต่าง แสดงถึงบทบาทของผู้ชายผู้เป็นสามีที่มีโลกของการงานอยู่นอกบ้าน ฝ่ายหญิงยืนอยู่หน้าเตียงซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของภรรยาผู้ดูแลความเป็นไปในบ้าน(บางคนยังเสนอว่าการที่เธอก้มหน้าต่ำนิดๆนั้นแสดงว่าเธอยอมรับบทบาทการเป็นภรรยาที่ว่านอนสอนง่ายยอมให้สามีเป็นช้างเท้าหน้าแต่โดยดีไม่มีขัดขืน สื่อถึงความไม่เท่าเทียมทางเพศในสมัยนั้น)

8. The clogs

นอกจากนี้ยังมีการตีความในเชิงศาสนาด้วย กล่าวคือ ลูกประคำ (rosary) และกระจกเงากลมหลังห้องที่ใสวาวไม่มีริ้วรอยเป็นสัญลักษณ์ความไร้มลทินหรือความบริสุทธิ์ของฝ่ายหญิง ภาพซีรี่ส์การถูกทรมานของพระเยซูก่อนถูกตรึงกางเขน (The Passion of Christ) ที่อยู่ในกรอบกลมๆเล็กๆรอบกระจกเงาหลังห้องก็ถือเป็นตัวแทนของพระบุตร    เทียนเพียงเล่มเดียวที่ลุกสว่างอยู่บนโคมระย้าที่อยู่เหนือศีรษะของชายหญิงทั้งคู่เป็นสัญลักษณ์แทนพระวิญญาณบริสุทธิ์ที่ได้มาร่วมรับรู้เห็นการสมรสในครั้งนี้      นอกจากนี้ที่พื้นยังมีเกือกไม้ (clogs) ถอดทิ้งไว้คู่หนึ่งอยู่ด้านหน้าภาพและอีกคู่อยู่ด้านหลังภาพ เป็นได้ว่าทั้งคู่ถอดเกือกวางไว้เพราะพื้นห้องนอนได้กลายเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ชั่วคราว(holy ground)เพื่อประกอบพิธีสมรสอันศักดิ์สิทธิ์(holy matrimony) ความสำคัญของการถอดรองเท้านี้ได้มีปรากฎในพระคัมภีร์ตอนที่ Moses เข้าพบพระเจ้าครั้งแรกในถ้ำแห่งหนึ่ง “Do not come any closer.  Take off your sandals, for you are standing on holy ground.”(Exodus 3:5)

ด้วยรายละเอียดดังที่กล่าวมาประกอบกันจึงน่าจะสรุปได้ว่าภาพนี้คือภาพที่ทำหน้าที่เสมือนหลักฐานการสมรสของ Giovanni di Arrigo Arnolfini และภรรยา Giovanna Cenami อย่างไม่มีข้อกังขา ทว่ามีหลักฐานที่ระบุว่าทั้งสองแต่งงานกันในปี 1447 ซึ่ง Van Eyck ได้เสียชีวิตไปหกปีแล้ว
9. Only one buring candle

National Gallery of London (ที่ภาพนี้แขวนโชว์อยู่ในปัจจุบัน) สงสัยว่าชายหนุ่มต้องสงสัยอีกคนก็คือผู้เป็นลูกพี่ลูกน้องที่ชื่อ Giovanni di Nicolao Arnolfini และภรรยาสาวน้อยวัย 13 ปี Costanza Trenta ทว่าในปี 1433 หนึ่งปีก่อนที่ Van Eyck จะวาดภาพนี้ พบจดหมายจากมารดาของ Costanza ซึ่งระบุว่าสาวน้อยได้เสียชีวิตไปแล้ว จึงเป็นข้อถกเถียงกันต่อว่าสาวน้อยในภาพนี้ใช่ภรรยาคนที่สองของชายหนุ่มหรือไม่ ทว่าก็ไม่มีหลักฐานใดๆสนับสนุนการมีตัวตนของภรรยาคนนี้เลย บ้างจึงสันนิษฐานว่านี่อาจเป็นภาพที่ Giovanni di Nicolao Arnolfini ให้ Van Eyck วาดขึ้นเพื่อระลึกถึงความทรงจำเมื่อครั้งที่เจ้าสาวยังมีชีวิตอยู่ (memorial portrait) โดยสังเกตว่าเทียนบนโคมระย้านั้นมีแสงสว่างอยู่เพียงเล่มเดียวคือเล่มที่อยู่เหนือศีรษะของฝ่ายชาย เป็นนัยว่าอายุขัยของฝ่ายชายยังไม่หมดขณะที่อายุไขของฝ่ายหญิงได้ดับลงแล้ว ณ เวลาที่ได้วาดภาพนี้ขึ้น  และภาพ The Passion of Christ ที่ล้อมกระจกกลมอยู่นั้นก็มีความหมายเป็นนัยไปในทางความตายและฟื้นคืนชีพขึ้นอีกครั้งของพระเยซู (the resurrection) ถ้าเป็นเช่นนั้นจริงภาพนี้ก็ไม่ใช่ wedding portrait ที่วาดขึ้นในวันแต่งงาน แต่เป็น double portrait คือภาพคู่สามีภรรยา หรือเป็น posthumous portrait คือภาพวาดของผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว
10. St. Magareth of Antioch ที่หัวเสาเตียง
 มีผู้สันนิษฐานว่า Costanza อาจจะเสียชีวิตเนื่องจากการคลอดบุตรเพราะเมื่อพิจารณาในเชิงสัญลักษณ์  ข้าวของในห้องล้วนมีนัยยะข้องเกี่ยวกับความเป็นมารดาอยู่หลายชิ้น นอกจากอาภรณ์ที่ทำให้ดูอุดมสมบูรณ์เหมือนพร้อมตั้งครรภ์หรือกำลังตั้งครรภ์อยู่แล้ว ตำแหน่งการยืนของหญิงสาวเองก็อยู่ใกล้เตียงนอนซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการร่วมเรียงเคียงหมอนหรือบทบาทของภรรยาในคืนแรกของการแต่งงาน(consummation) นอกจากนี้ยังอาจเป็นนัยว่าอีกไม่ช้านานสาวน้อยคงจะต้องนอนคลอดบุตรบนเตียงนี้ เพราะหัวเตียงไม้นั้นแกะสลักเป็นรูป Saint Margaret of Antioch (บนหลังมังกร) ซึ่งเป็นนักบุญผู้พิทักษ์หญิงมีครรภ์ให้ปลอดภัยยามคลอดบุตร (patroness of childbirth)
ที่ข้างหน้าต่างมีส้มกองอยู่จำนวนหนึ่ง ส้มนี้นอกจะเป็นสัญลักษณ์ของความบริสุทธิ์แล้ว ในสมัยก่อนยังถือเป็นผลไม้ที่ช่วยแก้อาคารคลื่นไส้ยามเช้าของสาวตั้งครรภ์ (morning sickness) และการวาดต้นไม้ (สันนิษฐานว่าเป็นต้นเชอร์รี่)ที่กำลังสะพรั่งดอกที่นอกหน้าต่างและกองผลไม้ไว้ในภาพยังเป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ในการมีบุตรหลานด้วย เหมือนต้นไม้ที่ผลิดอกออกผล (fruits for fruitfulness)

11. underpainting of the hand
นอกจากนี้มือขวาของฝ่ายชายที่ตั้งอยู่ที่ในระดับอกเมื่อนำภาพมาส่องสแกน infrared ดู underpainting แล้วก็พบว่าองศาของมือฝ่ายชายนั้นมีการแก้ไข จากเดิมที่ค่อนข้างแข็งทื่อเหมือนกำลังให้คำสัตย์สาบานในพิธีสมรสเปลี่ยนเป็นองศาที่ดูสบายๆขึ้นคล้ายๆลักษณะมือของ Saint Gabriel ในฉาก The Annunciation (เซ็นต์เกเบรียลมาปรากฏตัวต่อมาเรีย หญิงสาวพรหมจรรย์ เพื่อแจ้งข่าวว่าทารกน้อยจะมาประสูติในครรภ์ของนาง) จึงมีผู้เสนอว่าลักษณะของมือแสดงถึงความปราถนาที่จะมีบุตรของฝ่ายชาย

12. The Annunciation (c. 1475) Leonardo Da Vinci
ไม่ว่านี่จะเป็นภาพของ Mr. Arnolfini คนไหนกับสาวน้อยคนไหนก็ดี ความสำคัญอย่างไม่อาจปฏิเสธของภาพนี้ก็คือการเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ชิ้นหนึ่งที่ให้ข้อมูลด้านรายละเอียดของชีวิตชนชั้นกลาง ณ ช่วงเวลาหนึ่งได้อย่างดีเยี่ยม สิ่งที่บ่งบอกออกมาอย่างชัดเจนก็คือความมีอันจะกินอย่างเหลือล้นของชายหนุ่มเจ้าของบ้านซึ่งพิศดูแลเห็นได้ตั้งแต่พร๊อพ บนพื้นห้องไปจนเพดาน ในสมัยนั้น Bruges เป็นศูนย์กลางทางการค้า มีการนำเข้าพรมจากเจโนวา (Genoa) ผลไม้เมืองร้อนอย่างส้มจากสเปนหรือโปรตุเกต ขนสัตว์จากรัสเซียและแถบสแกนดิเนเวียน กระจกเงาแบบกลมที่อยู่ด้านหลังห้องนั้นก็เป็นอะไรที่คนรวยเท่านั้นถึงจะครอบครองได้ เพราะในสมัยนั้นชาวบ้านทั่วไปมีโลหะขัดมันไว้ส่องเงาก็ถือว่าดีแล้ว กระจกเป็นของทำยาก ยิ่งกระจกในภาพที่เห็นเป็นลักษณะกระจกกลมนูนสามารถสะท้อนให้เห็นห้องในมุมกว้างแบบ wide angle ด้วยแล้วยิ่งมีราคาแพง ซ้ำยังตกแต่งโดยรอบด้วยภาพ The Passion of Christ ในกรอบกลมๆเล็กๆอย่างวิจิตรอีกสิบภาพ ถัดขึ้นไปเหนือศีรษะของคนทั้งคู่มีโคมระย้า (chandelier) ซึ่งคงมีมูลค่าไม่น้อยเพราะทำจากโลหะฉลุลายอย่างวิจิตรสะท้อนแสงแวววาว
13. The Bride
เสื้อผ้าอาภรณ์ที่สวมใส่ก็บ่งบอกถึงความร่ำรวยของเจ้าของบ้านอย่างสอดคล้องกันดี หมวกสักหลาดทรงสุดเก๋สีดำบนศีรษะชายหนุ่มนั้นเป็นที่นิยมในหมู่ชนชั้นสูง เสื้อคลุมก็เป็นผ้าขนสัตว์ (fur)ตัดแต่งอย่างปราณีต ท่วงท่าการยืนดูสง่า ไหล่เล็ก ตัวเล็กผอมดูบอบบาง มือนั้นขาวสะอาดไม่แพ้ฝ่ายหญิง แสดงว่าวันๆชายผู้นี้ไม่ได้ต้องออกแรงทำงานตากแดดตากลมเลย ฝ่ายหญิงก็ไม่แพ้กัน อาภรณ์ที่ย้อมด้วยสีสันสดใสราคาแพงนั้นตัดกับผิวนวลลออราวไข่ปอก แขนเสื้อแต่งด้วยขนมิ้งซึ่งน่าจะเป็นสินค้านำเข้าอีกเช่นกัน ชายแขนจับจีบเป็นลูกเล่นไล่ระดับ ชายกระโปรงก็จับทับซ้อนเรียงกันไว้อย่างงดงามเพื่อเป็นแบบในการวาดภาพโดยสาวใช้สักคนอย่างแน่นอน ปริมาณผ้านั้นเยอะมากและกองอยู่ด้านหน้ามากจนอดสงสัยไม่ได้ว่านั่นคือผ้าที่ทบกันเป็นชั้นๆจนหนาหรือว่าเธอกำลังตั้งครรภ์อยู่ในระยะใกล้คลอดเต็มทีกันแน่ มือซ้ายของฝ่ายหญิงกำลังประคองครรภ์อยู่หรือกำลังกำลังประคองผ้าอยู่กันแน่

 แม้ภาพจะชวนให้เราคิดว่าสาวน้อยกำลังอุ้มท้องอยู่ แต่อันที่จริงลักษณะชุดแบบจับใต้อกน้อยๆแล้วจัดหนักที่ชายกระโปรงก็เป็นแฟชั่นในสมัยปลายยุคโกธิค การที่สตรีใส่  ท้องปลอม นั้นก็เพื่อแสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ของหญิงสาวประหนึ่งสำเภาที่มีของมีค่าอยู่เต็มลำ ผู้เชี่ยวชาญทางศิลปะบางท่านได้เทียบภาพนี้กับ ภาพ The Triptych with the Virgin and Child  ซึ่งเป็นอีกภาพหนึ่งที่ Van Eyck วาด Saint Catherine ในชุดลักษณะนี้เช่นกัน  ตามตำนาน Saint Catherine เป็นสาวพรหมจรรย์ (The Virgin Martyr) จึงไม่เคยตั้งครรภ์อย่างแน่นอน นอกจากนี้ศิลปินร่วมสมัยบางคนก็วาดภาพหญิงสาวพรหมจรรย์ในชุดที่ทำให้ดูเหมือนตั้งครรภ์





   

14. The Triptych with the Virgin and Child
15. Altar of the Seven Sacraments (c.1445), Rogier van der Weyden

 


สรุปว่าสิ่งที่ภาพบอกเราได้อย่างชัดเจนก็คือบุคคลทั้งสองร่ำรวยมากและปรารถนาอยากมีบุตรร่วมกันในเร็ววันอย่างแน่นอน  ส่วนหญิงสาวในชุดแต่งงานผู้นี้จะกำลังตั้งครรภ์อยู่หรือไม่ ชายคนนี้คือชายหนุ่มตระกูล Arnolfini คนใด และ Van Eyck ต้องการเสนออะไรจากภาพที่เขาวาดก็ยังคงเป็นปริศนา แต่ปริศนานี้เองที่กลายเป็นสเน่ห์ของภาพที่ชวนให้ผู้ที่พิศดูอดสงสัยไม่ได้ ภาพนี้เป็นภาพ icon ภาพหนึ่งของวงการศิลปะเลยทีเดียวค่ะ 

 





16. Sesame Street
17. Lego
18. Brad Pitt and Angelina Jolie
References:
Hagen, Rose-Mary and Rainer. What Great Paintings Say. Taschen: Köln, 2003
 http://www.themasterpiececards.com/famous-paintings-reviewed/bid/27677/Famous-Paintings-The-Arnolfini-Portrait

Photo Courtesy:
1. http://gardenofpraise.com/art29.htm
2. http://www.christusrex.org/www2/art/Cimabue.htm
3. http://www.artexpertswebsite.com/pages/artists/carlo_crivelli.php
4. http://www.wikipaintings.org/en/raphael/madonna-in-the-meadow-1506
5. http://www.guardian.co.uk/commentisfree/belief/2010/apr/12/marriage-politics-religion-christianity
6. http://www.ginacolliasuzuki.com/the_perplexed_palette/weblogs/
7. http://www.ginacolliasuzuki.com/the_perplexed_palette/weblogs/
8. http://www.oneonta.edu/faculty/farberas/arth/arth214_folder/van_eyck/arnolfini.html
9. http://www.ginacolliasuzuki.com/the_perplexed_palette/weblogs/
10. http://www.ginacolliasuzuki.com/the_perplexed_palette/weblogs/
11. http://www.ginacolliasuzuki.com/the_perplexed_palette/weblogs/
12. http://preachingthelectionary.wordpress.com/2011/03/20/the-annunciation-2/
16. http://www.flickr.com/photos/udronotto/2256888173/galleries/
17. http://toappreciateart.tumblr.com/
18. http://perezhilton.com/?p=20498&cp=2#comments