วันเสาร์ที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2553

เทศกาล Easter

Easter เป็นเทศกาลของชาวคริสต์เพื่อระลึกถึงเหตุการณ์ปาฏิหารย์การฟื้นจากความตายของพระเยซู (the resurrection) หลังจากที่ทรงถูกตรึงกางเขนจนสิ้นพระชนม์ (the crucifixion) เพื่อไถ่ถอนบาปให้กับมวลมนุษย์

Easter จะตรงกับวันอาทิตย์เสมอแต่จะเป็นวันอาทิตย์ที่เท่าไรนั้นไม่ตายตัวในแต่ละปี ปีนี้ตรงกับวันที่ 4 เมษายนซึ่งนับว่ามหัศจรรย์อย่างยิ่งเพราะนานทีปีหนเราจะได้เห็นวัน Easter ของคริสต์ทั้งนิกาย Catholic, Protestant และ Orthodox จะมาลงได้วันเดียวกันพอดี ตรงนี้บางคนอาจจะงงๆ ศาสนาคริสต์นั้นมีการแบ่งย่อยออกเป็นสามนิกายหลักๆ (แต่สำหรับนิกาย Protestant ก็อาจจะมีนิกายย่อยๆออกไปอีกตามการตีความพระคัมภีร์ที่แตกต่างกัน) แต่ละนิกายหลักก็จะมีการคำนวนวัน Easter ตามปฏิทินที่ต่างกันค่ะ บ้างยึด Julian Calendar ของ Julius Caesar บ้างยึด Georgian Calendar ของ Pope Gregory XIII จึงขอยกคำอธิบายของ ศาสนาจารย์ ธงชัย ประดับชนานุรัตน์ มาเผยแพร่เพื่อความกระจ่างไว้ตรงนี้ละกัน

"ตัวเทศกาลนี้ จริงๆแล้วได้พัฒนามาจากเทศกาล “ปัสกา” (Passover) ของยิว ช่วงสุดท้ายของชีวิตพระเยซูคริสต์ก็อยู่ในช่วงเทศกาลปัสกาดังกล่าว

ดั้งเดิมแล้ว วันอีสเตอร์ ได้ถือปฏิบัติกันในวันปัสกา (วันที่ 14 เดือนนิสาน) จนกระทั่งในกลางศตวรรษที่ 2 คริสเตียนบางกลุ่มเริ่มเฉลิมฉลองวันอีสเตอร์นั้น ในวันอาทิตย์หลังจากวันที่ 14 เดือนนิสาน โดยถือเอาวันศุกร์ก่อนหน้าเป็นวันที่พระเยซูคริสต์ถูกตรึงสิ้นพระชนม์ สุดท้ายก็เกิดการโต้เถียงในเรื่องวันที่ถูกต้องในการฉลองอีสเตอร์ จนกระทั่งในปี ค.ศ. 197 วิคเตอร์ แห่งโรม ได้บีบพวกคริสเตียนที่ยังยืนกรานที่จะฉลองอีสเตอร์ในวันที่ 14 เดือนนิสาน ให้ออกไปจากหมู่คณะ แต่การถกเถียงยังคงดำเนินอยู่ต่อไป จนกระทั่งมาถึงต้นศตวรรษที่ 4 จักรพรรดิ คอนสแตนติน ทรงบัญชาให้ถือรักษาวันอีสเตอร์เป็นวันอาทิตย์ หลังวันที่ 14 เดือนนิสาน แทนการฉลองในวันที่ 14 เดือนนิสานเหมือนที่เคยปฏิบัติมาแต่เดิม

ด้วยเหตุนี้เอง วันอีสเตอร์จึงได้รับการเฉลิมฉลองในวันอาทิตย์แรกหลังจากคืนวันเพ็ญแรก ที่ตามหลังวัน “วสันตวิษุสวัต” (Vernal equinox) ซึ่งเป็น “วันที่กลางวันเท่ากับกลางคืน” ตรงกับวันที่ 21 มีนาคม พูดง่ายๆก็คือจากวันนี้มาจนถึงวันนี้ วันอีสเตอร์จะต้องมาหลังจากวันที่ 21 มีนาคมของทุกปี

จึงสรุปได้ว่า เมื่อตอนเริ่มแรกนั้น อีสเตอร์ เป็นงานเลี้ยงเฉลิมฉลองที่ผูกพันใกล้ชิดกับวันปัสกา ซึ่งเตือนให้ระลึกถึงเหตุการณ์ที่พระเจ้าทรงนำชาวอิสราเอล ให้อพยพรอดออกมาจากการเป็นทาสในอียิปต์ และเหตุการณ์ที่พระเยซูคริสต์ทรงถูกตรึงตายไถ่ผู้ศรัทธาในพระองค์ให้รอดพ้นจากโทษบาป

จนกระทั่งในศตวรรษที่ 4 อีสเตอร์ จึงแยกออกมาเป็นการเฉลิงฉลองเพื่อระลึกถึง “การเป็นขึ้นมาจากความตายของพระเยซูคริสต์” หลังจากที่พระองค์ทรงถูกตรึงบนไม้กางเขนเพื่อไถ่บาปของมนุษย์และการฉลองนี้จะอยู่ในช่วงฤดูใบไม้ผลิที่เคยเป็นเทศกาลเฉลิมฉลองฤดูใบไม้ผลิของชาวยุโรป"


ก่อนเทศกาล Easter จะเป็นช่วงเวลาที่เรียกว่า Lent ซึ่งกินเวลา 40 วัน (ไม่นับวันอาทิตย์) ซึ่งเท่ากับจำนวนวันที่พระเยซูได้ต่อสู้กับความยากลำบากและซาตานในทะเลทราย เป็นช่วงที่ชาวคริสต์(ไม่ทุกคน)จะถือศีลอดอาหาร (fast) และระลึกถึงความผิดบาปที่เคยทำมา (penitence) เพื่อเตรียมตัวเข้าสู่ Easter

วันที่เริ่ม Lent คือวันที่เรียกว่า Ash Wednesday (ash = ขี้เถ้า ในวันนี้ชาวคริสต์จะเข้าโบสถ์ และรับขี้เถ้าเป็นเครื่องหมายแสดงความสำนึกบาปที่หน้าผาก)

สัปดาห์ก่อน Easter จะเรียกว่า Holy Week (สัปดาห์ศักด์สิทธิ์) ในสัปดาห์นี้มีวันสำคัญดังนี้





Palm Sunday วันอาทิตย์ก่อนวัน Easter เป็นวันที่พระเยซูและอัครธรรมฑูตทั้งสิบสองเดินทางเข้าเยรูซาเล็ม ผู้คนแห่ร้องต้อนรับพร้อมกับเอาใบปาล์มมาโบกหยอยๆเพราะคิดว่าพระเยซูจะมาปลดแอกพวกตนจากพวกโรมัน




Holy Wednesday หรือ Spy Wednesday คือวันที่จูดาส (Judas Iscariot หนึ่งในอัครธรรมฑูตทั้งสิบสอง) ได้แอบสมคบกับทหารโรมัน (the Sanhedrin) ว่าจะชี้ตัวพระเยซูให้โดยแลกกับเงินสามสิบเหรียญ (ภาพ'Pact of Judas'โดยฝีแปรงของ Duccio Buoninsegna)




Maundy Thursday หรือ Holy Thursday คือวันที่พระเยซูเสวยพระกระยาหารมื้อสุดท้าย (the last supper) ร่วมกับอัครธรรมฑูตทั้ง 12 (apostles) (ภาพดังที่คุ้นเคยของ Leonardo Da Vinci)






Holy Friday, Good Friday, Great Friday หรือ Black Friday (วันศุกร์ประเสริฐ) คือวันที่พระเยซูต้องทนทุกข์ทรมานจากการถูกทหารโรมันลงโทษสารพัด และในที่สุดก็ถูกตรึงกางเขน (the passion and the crucifixion) (ภาพ 'Christ Carrying Cross' ของ Tiepolo)




หลังจากที่พระเยซูสิ้นพระชนม์บนกางเขนแล้ว ชาวบ้านก็นำพระศพมาห่อผ้าและเอาไปเก็บไว้ในถ้ำ สามวันต่อมาพระองค์ทรงฟื้นคืนชีพ และปรากฏกายให้ผู้คนเห็นอยู่ 40 วันก็กลับขึ้นสวรรค์ (Ascension) (ภาพ 'The Resurrection' ของ Fra Angelico ในภาพ ฑูตสวรรค์กำลังบอกแมรี พระมารดาของพระเยซู แมรี แมกดาลีนและชาวบ้านที่มาหาพระศพในถ้ำว่าพระเยซูได้ฟื้นคืนชีพแล้ว จงไปบอกข่าวนี้แก่บรรดาอัครธรรมฑูตด้วย)




คำว่า Easter น่าจะมาจากชื่อของเทพธิดาแห่งฤดูใบไม้ผลิของพวก Anglo-Saxons ‘Eastre’ หรือคำว่า ‘Eostarun’ ในภาษาเยอรมันที่แปลว่า รุ่งอรุณ เพราะ Easter อยู่ในช่วงฤดูใบไม้ผลิ เปรียบเสมือนการเริ่มต้นชีวิตใหม่หลังจากที่สรรพสิ่งได้ตายหรือแห้งไปในช่วง winter สัญลักษณ์ที่ใช้ในเทศกาลนี้จะสื่อถึงชีวิตใหม่และความหวังเช่น ผีเสื้อ ดอกไม้ แต่ที่เราพบบ่อยๆก็คือ Easter Bunny และ Easter Egg ซึ่งอาจเป็นลูกกวาดบ้างหรือช็อกโกแลตบ้าง มูลเหตุที่เป็น Easter Bunny นั้นก็เพราะว่าในโลกซีกตะวันตกจะพบเห็นกระต่ายได้ก็ในฤดู Spring เท่านั้น กระต่ายน้อย (bunny) กระต่ายธรรมดา (rabbit) หรือกระต่ายป่า (hare) จึงเป็นเหมือนตัวบอกว่าฤดูแห่งการผลิดอกออกใบและชีวิตใหม่นั้นได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว ส่วน Easter Egg หรือ ไข่ นั้นก็เป็นสัญลักษณ์ของชีวิตที่กำลังจะฟักเป็นตัวและเติบโตนั่นเอง ไข่ช็อกโกแลตจะขายดิบขายดีเป็นพิเศษ ยี่ห้อที่ได้รับความนิยมสูงสุดยอดขายทิ้งห่างกระจุยเห็นจะได้แก่ Thornton, Harrods, Cadbury และ Galaxy



Easter นั้นไม่ใช่การเฉลิมฉลองด้วยการกินขนมไข่อย่างฉาบฉวย แต่มีความหมายสำหรับคริสตชนอย่างลึกซึ้ง รายละเอียดนี้ขอยกอรรถาธิบายของคริสตจักรอภิสุทธิสถาน สังกัดสหกิจคริสเตียนแห่งประเทศไทย (Holy of Holies) ก็แล้วกัน

"คริสเตียนถือว่า วันที่พระเยซูคริสต์ทรงเป็นขึ้นมาจากความตาย เป็นวันที่สำคัญที่สุด เป็นหัวใจของข่าวประเสริฐ เพราะถ้าไม่มีวันอีสเตอร์ วันคริสตมาสหรือวันศุกร์ประเสริฐก็ไม่มีความหมาย เพราะถ้าพระเยซูเสด็จมาเกิด_ และสิ้นพระชนม์โดยไม่ได้เป็นขึ้นมาใหม่ พระองค์ก็จะเป็นพระเจ้าที่ตายแล้ว ไม่สามารถช่วยเราได้ แต่เมื่อพระองค์ได้ชัยชนะเหนือความตาย บรรดาผู้เชื่อจึงมีความหวังที่แน่นอน ที่จะเป็นขึ้นจากความตาย มีชีวิตนิรันดร์ในสวรรค์สถานกับพระเจ้า ได้มีความมั่นใจในชีวิตนิรันดร์หลังความตาย สิ่งนี้ได้ถูกบันทึกไว้ในพระคัมภีร์ว่า หลังจากพระเยซูคริสต์เป็นขึ้นมาจากความตาย พระองค์ได้ไปปรากฏในที่ต่างๆ หลายแห่ง ท่ามกลางสาวก และได้อยู่กับสาวกเป็นเวลา 40 วัน จึงได้เสด็จสู่สวรรค์ท่ามกลางพยานถึง 500 คน เมื่อพระองค์ตรัสสั่งสาวกให้ไปประกาศข่าวประเสริฐ จนถึงสุดปลายแผ่นดินโลก (มัทธิว 28:18-20) และพระองค์ทรงสัญญาว่าจะอยู่กับพวกเขาจนกว่าจะสิ้นยุด และยังสัญญาว่าจะกลับมารับพวกเขาไปอยู่กับพระองค์ พวกสาวกจึงได้ออกไปประกาศข่าวนี้ โดยไม่กลัวอันตรายใดๆ บ้างก็ถูกต่อต้าน ถูกจับทรมาน ถูกฆ่าตายแต่พวกเขาก็ไม่หยุดยั้ง เพื่อยืนยันถึงสัจธรรมที่พวกเขาเชื่อว่าเป็นความจริงโดยเอาชีวิตเป็นเดิมพัน ยิ่งนับวันผู้คนติดตามพระองค์ก็มีมากขึ้น พระองค์ได้สถาปนาอาณาจักรของพระองค์ด้วยความรักที่สละได้แม้ชีวิตของพระองค์เอง ที่พวกเขาเชื่อว่าเป็นความจริง"

ขอบพระคุณข้อมูลจาก

wikipedia
http://easter.newarchaeology.com/2010_easter_date.php
http://www.sudipan.net/phpBB2/viewtopic.php?t=4674
http://www.peterdreamland.com/content/index.php?option=com_content&task=view&id=538&Itemid=65
http://www.holyofholies.net/christian.html

วันพุธที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2553

Evolution of Swimwear

ขณะที่ฝั่งตะวันตกกำลังหมดลมหนาว เข้าสู่ลมเย็นสบาย อากาศบ้านเราก็เริ่มร้อนอบอ้าวเสียแล้ว ครานี้จึงขอนำเสนอเรื่องคลายร้อนสำหรับบ้านเราว่าด้วยวิวัฒนาการของชุดว่ายน้ำ (bathing suit/ swim suit/ swimwear)

เห็นฝรั่งนอนหราตามหาดในชุด bikini แบบไม่เกรงสายตาและคำวิพากษ์จากธารกำนัลอย่างนี้ เชื่อไหมว่าฝรั่งในสมัยก่อนโดยเฉพาะในยุค Victorian ในประเทศอังกฤษ (ราวศตวรรษที่ 18 ซึ่งเป็นยุคสมัยที่ศาสนาคริสต์กลับมามีบทบาทสุดๆอีกครั้ง) ถือเรื่องการปกปิดร่างกายและการสงวนเนื้อตัวมากๆเลยทีเดียว ขนาดที่ว่าแค่หนุ่มๆได้เห็นข้อเท้า(ทีมีถุงเท้าปกปิด)ของสาวๆในชุดกระโปรงยาวก็ร้อนรุ่มแล้ว สำหรับบางบ้านที่เคร่งครัดมากๆ ขาโต๊ะหรือขาเปียโนก็ต้องคลุมผ้าอย่างมิดชิดเช่นกัน มิเช่นนั้นจะดูโป๊เกินงาม



นอกจากวัฒนธรรมการสงวนเนื้อสงวนตัวแล้ว ความสวยของสาว Victorian ก็คือการมีผิวขาวนุ่ม ไม่กร้านดำเพราะสายลมและแสงแดดเช่นเดียวกับสาวไทยปัจจุบัน ยามไปทะเลสาวๆ Victorian จึงแต่งตัวกันมิดชิดมาก พวกหล่อนจะใส่ชุดกระโปรงยาว (gown) แขนยาว ถุงมือ และที่สำคัญก็คือหมวกแบบมีปีกบังแดด (bonnet) หรือร่มกันแดดงามๆ (parasol)






พอเข้าช่วงศตวรรษที่ 19 ชุดเดินหาดแสนสวยที่ไม่ใคร่จะสะดวกสบายเอาเสียเลยก็พัฒนารูปทรงให้เดินโต้ลมเล่นคลื่นได้สบายชีวิตขึ้น เป็นแบบทรงขาพองๆที่เรียกว่า Bloomers (bloom = บานออก แต่ชื่อนี้อาจจะมาจากเจ้าของไอเดียคือ Amelia Bloomer) ท่อนบนจะใส่ชุดมิดชิดที่เรียกว่า paletot dress ใส่คู่กับ Turkish pants ดังรูป (ถ้าตกทะเลไปชุดคงอุ้มน้ำน่าดู)






ช่วงกลาง-ปลายศตวรรษที่ 19 สาวๆยังนิยม Turkish pants อยู่ แต่เริ่มสั้นลง กระนั้นสาวๆ Victorian ที่ดีงามตามครรลองก็จะใส่ถุงน่อง (stockings) ซึ่งอาจเป็นถุงน่องธรรมดา เป็นลูกไม้ (lace) หรือริบบิ้นพันไปพันมาไว้ด้วย




ปลายศตวรรษที่ 19 มีกิจกรรมบนชายหาดให้สาวๆได้เพลิดเพลินมากมายทั้ง wind surf และดำน้ำ (diving) ชุดว่ายน้ำในช่วงนี้จึงมีลักษณะทรงที่กระทัดรัดขึ้น แต่ก็ยังคงคุณค่าแบบ Victorian คือไม่เปิดเผยเรียวขาเกินงาม ถ้าไม่ใส่ stockings ไว้ก็จะโชว์ขาเพียงแค่หน้าแข้งเท่านั้น ลายยอดนิยมคือลายกะลาสี (sailor)








ย่างเข้าต้นศตวรรษที่ 20 ชุดว่ายน้ำได้รับการปรับแต่งให้เผยสรีระของหญิงสาวมากขึ้น และโชว์แขนขามากขึ้น เป็นต้นแบบชุดว่ายน้ำแบบ one-piece ในปัจจุบันนั่นเอง ชุดแบบคุณป้านี้เรียกขานกันว่า Athletic Tank Suit ใส่เหมือนกันทั้งชายหญิง ลวดลายในช่วงแรกนั้นไม่หวือหวานัก เป็นลายจุด (polka dots) ลายทาง (stripes) ธรรมด๊าธรรมดา (so plain) แต่ต่อมาลวดลายเก๋ๆก็เพิ่มขึ้น มีการเพิ่ม accessory เข้าไปเป็นลูกเล่น เช่นเข็มขัด และซิป


ช่วงกลางศตวรรษที่ 20 เกิดการรวมร่างชุด tank suit กับ corset กลายเป็น corset-like suit ชุดป้าๆที่แสนน่ารักเรียบร้อยจึงดู sexy ขึ้นทันตาเห็น พอย่างเข้าช่วงปี 1960 ก็ได้ผสม Nylon หรือ Lycra เข้ากับเนื้อผ้าเพื่อให้ได้วัสดุที่มีความยืดหยุ่นสูง ดีไซน์นั้นได้พัฒนาให้กิ๊บเก๋ขึ้นมาก มีทั้งจับจีบ (pleated) และระบาย (flare) การตัดเย็บก็ให้ sexy ยิ่งขึ้นอีกด้วย high cut (เว้าขาสูง) และเฉือนตรงโน้น โหว่ตรงนี้ และเกิดเป็น bikini ในช่วงปลายศตวรรษที่สุด




แต่ที่วงการชุดว่ายน้ำต้องอึ้ง ทึ่ง เสียว ยิ่งกว่าก็เมื่อชุดว่ายน้ำกลายร่างเป็นแบบ G-string หรือ thong/ tanga ในช่วง 80s จนกระทั่งปัจจุบัน ชุดว่ายน้ำก็ยิ่งหดๆๆลงจนเหลือเชื่อเลยว่าครั้งหนึ่งมันเคยปกปิดเรือนร่างของสาวๆจนมิดชิดถึงตาตุ่ม ชุดว่ายน้ำปัจจุบันนี้มากมายหลายหลาก นอกจากคำทั่วๆไปว่า one-piece และ two-pieceแล้ว เรามาดูกันว่าชุดแบบไหนเรียกว่าอะไรกันบ้างนะคะ เริ่มที่ชุดผู้หญิงก่อนละกัน


ซ้าย: dress ง่ายๆไม่โป๊
กลาง: racerback แบบเสื้อกล้ามนักกีฬา
ขวา: monokini ลูกผสมของ one-piece และ bikini


ซ้าย: v-plunge แบบคอแหลมลึก ถ้าลึกมากก็เรียก deep v-plunge (plunge = ดิ่งลงล่าง)
กลาง: วิวัฒนาการขั้นสูงสุดของ deep v-plunge เรียก slingshot แปลตรงตัวคือหนังสะติ๊กยิงนก เหมือนมั๊ยล่ะ
ขวา: thong หรือ tanga

swimsuit ของผู้ชายก็วิวัฒนามาจนชวนสยิวกิ๊วก๊าวไม่แพ้กัน



ซ้าย: swimbrief กางเกงว่ายน้ำมาตรฐานกางเกงในชายนั่นเอง
กลาง: boardshorts แบบกางเกงสามส่วน เด็กบอร์ดชอบใส่ไว้เล่น surf
ขวา: jammer jam = เหนียวหนึบแบบแยม จึงเป็นชื่อของกางเกงว่ายน้ำเหนียวหนึบติดน้องชายดังภาพ


ซ้าย: wetsuit ชุดเพื่อเปียก ไว้ดำน้ำโดยเฉพาะ
กลาง: fundoshi วิวัฒนามาจากเตี่ยวญี่ปุ่น
ขวา: mankini อาจเรียกได้ว่าเป็น slingshot ไม่ต้องดีดก็เจ็บส์จริงๆ
คราวหน้าจะเลือกชุดว่ายน้ำคงมีไอเดียมากขึ้นแล้วนะคะ ฮิๆ